การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาดำเนินให้เกิดผล และเพื่อให้ข้าราชการเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ซึ่งบริหารบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ประเด็นของการเรียนรู้ ประกอบด้วย

1. การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวข้อง
2. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10
3. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการน้อมนำมาใช้ในภาคส่วนต่างๆ
4. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับข้าราชการ
5. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบข้าราชการ

1. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“…ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือ ความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอสมควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป
…การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์…”

( พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 )
จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงสอนให้เราอยู่อย่างพอกินพอใช้ ให้ประหยัด รอบคอบ และระมัดระวัง เมื่อมีพื้นฐานที่มั่นคงแล้วก็ค่อยพัฒนาต่อไปตามลำดับขั้น

นอกจากนี้พระบรมราโชวาทขององค์นี้ ก็ยังมีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอีกหลายองค์ ที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้พระราชทานไว้ อันเป็นแนวทางที่สำคัญยิ่ง อันจะยังผลให้ประเทศของเรารอดพ้นจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลก

“…ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราจะยอดยิ่งยวดได้…
ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความคิดและมีอิทธิพล มีพลัง ที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำพอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล…”

พระราชดำรัสองค์นี้ได้พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งพระองค์ได้ทรงเน้นย้ำอีกว่าให้พวกเราพออยู่พอกิน

จริงๆ แล้วยังมีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอีกหลายองค์ ที่ล้วนมีค่ายิ่งที่พวกเราควรจะได้ยึดและปฏิบัติตาม ผมเชื่อว่าเมื่อพวกเราได้เรียนรู้ จะสามารถน้อมนำสิ่งที่พระองค์ได้พระราชทานมาเป็นแนวทางในการทำงานและดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

ความหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกวันนี้ ทุกคนต่างก็พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง แต่ท่านทราบหรือไม่ ว่าจริงๆแล้ว หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น คืออะไร มีหลักการอย่างไรบ้าง และใครสามารถนำหลักปรัชญานี้ไปใช้ได้บ้าง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ อย่างที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่เบื้องต้นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชี้แนะแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อประมาณ 33 ปีมาแล้ว แล้วก็ทรงชี้แนะพวกเราอีกหลายๆครั้งด้วยกัน ดังปรากฏในพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ และเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ก็ยิ่งเป็นการ พิสูจน์และเน้นย้ำว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น สามารถน้อมนำมาประยุกต์ใช้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเราได้เป็นอย่างดี

เมื่อคราววิกฤตเศรษฐกิจนั้น เศรษฐกิจแบบค้าขายเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งหมด ต้องพึ่งพาคนอื่นหรือประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ขับรถเราก็ต้องพึ่งพาน้ำมัน แต่น้ำมันเราต้องนำเข้าจากตะวันออก เป็นต้น เวลาที่น้ำมันแพง พวกเราก็เดือดร้อนกันไปทั่ว ไม่ใช่แต่คนที่ต้องขับรถใช้น้ำมันอย่างเดียว เพราะว่าน้ำมันแพง ข้าวของเครื่องใช้บางอย่างก็แพงขึ้นด้วย

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

จะเห็นได้ว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา ดังนั้นทุกๆ คนก็สามารถนำไปใช้กับตนเอง ครอบครัว สังคม จนถึงระดับประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร พลเรือน ประชาชน คนรวย คนจน สามารถเอามาประยุกต์ใช้กันได้หมด

แนวคิดของหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ การตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง ไม่ประมาท โดยที่จะต้องคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้รวมกันเป็นหลักที่ปฏิบัติได้

ขอเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 มาให้ท่านได้เรียนรู้กันอีกครั้งหนึ่ง

“…คำว่าพอเพียงมีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึง การมีพอสำหรับใช้เท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน… พอมี พอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง…”

“ …ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา ก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรจะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ … ”

“…Self-sufficiency (พึ่งตนเอง) นั้นหมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง…”

“…แต่พอเพียงนี้ มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่า พอก็พอเพียง เพียงนี้ก็พอ ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด – อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ – มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็จะอยู่อย่างเป็นสุข…”

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541)
ต่อไปขอให้ทุกท่านได้เรียนรู้จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ท่านได้อธิบายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไว้สรุปได้ว่า ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วยความพอประมาณ ซึ่งหมายถึง ความพอดี ไม่น้อยและไม่มากเกินไปจนต้องเบียดเบียนตนเองและคนอื่น ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจในระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างความมีเหตุผล โดยต้องพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
โดยจะต้องมีเงื่อนไข 2 ประการ คือ เงื่อนไขความรู้ ซึ่งประกอบไปด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ อย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณา เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ เงื่อนไขคุณธรรม ประกอบไปด้วยความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ ช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่น ทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

2. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยังได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ด้วย โดยได้มุ่งเน้นในเรื่องสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน มุ่งสร้างความสุขให้คนไทย และสังคมไทยอย่างยั่งยืน

เราลองมาเรียนรู้จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.อำพน กิตติอำพน ท่านพูดถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และจะมีความสำคัญต่อการแก้วิกฤตประเทศอย่างไร

เมื่อเริ่มจัดทำแผนนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำการศึกษาหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วจึงได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในภาวะของโลกปัจจุบันเพื่อวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศขึ้นมา โดยทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ทำการวิเคราะห์ 5 บริบทของการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ ไว้ 5 ประการดังนี้

1. การรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในตลาดเงินของโลก
2. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด
3. การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม
4. การเคลื่อนย้ายคนอย่างเสรี
5. การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 จึงได้วางยุทธศาสตร์ในการจัดทำแผนพัฒนาประเทศขึ้นมา 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
2. ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ
3. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
5. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้โดยเน้นในเรื่องของความสุขของคนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เป็นแนวทางเพื่อสร้างความสุขอันยั่งยืนนั้นให้กับประเทศไทย

3. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการน้อมนำมาประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆ

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการน้อมนำมาใช้ในภาคส่วนต่างๆ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สามารถนำมาใช้กับทุกคน ทุกหน่วยงาน และทุกๆภาคส่วน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร หากทุกคนมาร่วมกันน้อมนำหลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ ก็น่าจะช่วยให้ประเทศไทยของเรามีความสุขสงบได้
ซึ่งในขณะนี้ก็ได้มีฝ่ายต่างๆ มาช่วยกันขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นที่แพร่หลาย และนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมและปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจเสรีมีการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความสมดุล มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีรากฐานที่มั่นคง
ในส่วนภาคเกษตร และภาคเอกชนเอง จะนำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้กับได้อย่างไร

ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ด้านองค์กรธุรกิจเอกชน ในส่วนของภาคเอกชนนั้นได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างไร

ดร. อาชว์ เตาลานนท์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านองค์กรธุรกิจเอกชน ท่านได้เปรียบเทียบหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการขับรถยนต์ ซึ่งในการขับรถก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คันเร่ง เบรก น้ำมัน ซึ่งเวลาเราขับรถจะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งในการขับไม่ได้ เราจะเหยียบคันเร่งตลอดไม่ได้ ต้องมีผ่อน มีลดความเร็ว ต้องใช้เบรกและเพื่อความปลอดภัย ก็ควรเร่งความเร็วให้พอประมาณ เหตุผล นั่นก็คือต้องมีสติ และต้องมีความระมัดระวัง ซึ่งนั่นก็คือ หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขนั่นเอง

ท่านยังได้บอกถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับองค์กรเอกชนว่า ฝ่ายบริหารจะต้องกำหนดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นนโยบายของบริษัท และต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมตั้งแต่ฝ่ายบริหารจนถึงระดับพนักงาน นอกจากนี้ก็ต้องทำธุรกิจด้วยความมีคุณธรรม จริยธรรม ด้วยเช่นกัน ไม่นึกถึงแต่กำไรเพียงอย่างเดียวและต้องคำนึงถึงใจพนักงาน รวมถึงเข้าใจลูกค้าด้วย นอกจากนี้แล้ว ธุรกิจต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต้องคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งคน สังคม และสิ่งแวดล้อม

เมื่อได้เรียนรู้จากภาคธุรกิจไปแล้ว ขอให้ท่านได้เรียนรู้ทางด้านภาคเกษตร คุณลุงสำรอง แตงพลับ เป็นเกษตรกรดีเด่น และเพิ่งได้รางวัลเกษตรกรผู้ผลิตผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษ อันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งทางจังหวัดเพชรบุรีส่งเข้าประกวด

ท่านได้นำเอาหลักมาใช้กับการทำงานของภาคส่วนของท่านอย่างไร และท่านได้บอกวิธีในการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับชีวิตของท่านจนประสบความสำเร็จจนได้เป็นเกษตรกรตัวอย่าง

คุณลุงสำรองนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง และแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้กับงานของท่านเอง จากเดิมที่มีหนี้สินมากมาย มีบ้านหลังเล็กที่ไม่สามารถกันฝนได้ จนกระทั่งหมดหนี้ มีบ้านหลังใหญ่และมีรถปิ๊กอัพขับ แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ท่านก็ยังได้ฝากบอกด้วยว่า ข้าราชการสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้ เช่นกัน โดยต้องไม่หลง หรือโลภ มีเงินเดือนน้อยก็ต้องใช้ให้พอด้วยการอดออมประหยัด

หลังจากที่ได้เรียนรู้จากบุคคลต่างๆในแต่ละภาคส่วนที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับการทำงานในแต่ละด้าน ท่านคงจะเห็นแล้วว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นปรัชญาที่เป็นสากล เนื่องจากไม่ได้จำกัดการนำไปประยุกต์ใช้กับส่วนใดส่วนหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้ได้โดยปรับให้เหมาะสมกับการทำงาน และสิ่งแวดล้อมในงานของแต่ละส่วน

4. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับข้าราชการ

สำหรับในบริบทการบริหารงานภาครัฐซึ่งประกอบด้วยบทบาทบุคลากรของรัฐ และ บทบาทประชาชน นั้นจะสามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้ อย่างไร
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้สรุปได้ว่า

ข้าราชการต้องปฏิบัติหน้าที่โดยจะต้องอยู่บนหลักของความพอประมาณ การพอประมาณไม่ใช่ทำแต่น้อยให้พอเสร็จๆไป แต่พอประมาณ หมายถึง การประเมินความสามารถของเราว่ามีแค่ไหน แล้วทำให้เต็มที่กับความสามารถที่เรามี นอกจากนี้เราจะต้องมีเหตุมีผล ต้องมีการวิเคราะห์และไตร่ตรองทุกครั้งเมื่อทำงาน รวมทั้งต้องสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีให้กับตนเอง

การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับตนเองได้โดยไม่ยากเลย ซึ่งท่านก็ได้เล่าว่าในสิ่งที่ท่านได้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันเราต้องบริหารกิเลสตัณหา อย่าให้กิเลสตัณหามาบริหารเรา ใช้ชีวิตอย่างมีสติ สิ่งใดที่ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น ก็ไม่จำเป็นต้องหามาเพื่อสนองความอยากความต้องการของตัวเอง ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้มีประโยชน์กับตัวท่านเอง ซึ่งถ้าเราสามารถปฏิบัติได้ก็จะสามารถเป็นตัวอย่างให้กับครอบครัว ทำให้ครอบครัวของท่านปฏิบัติตามได้ด้วย